ประเภทอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายคณะสงฆ์ของประเทศไทย
บทบัญญัติของกฎหมายตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ได้มีการแบ่งประเภทที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
(1) ที่วัด หมายถึงที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อันเป็นที่ตั้งของวัดตลอดจนขอบเขตของวัดนั้นและเป็นที่ชึ่งมีที่ตั้งของวัดหนึ่งวัดใดเป็นการเฉพาะ
(2) ที่ธรณีสงฆ์ หมายถึงที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสมบัติของวัดแต่ไม่ใช่ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของวัด เช่นที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่มีผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นผู้อุทิศให้แก่วัดใดวัดหนึ่งเป็นการเฉพาะจึงถือได้ว่าเป็นสมบัติของวัดนอกจากนี้ใครจะยึดครองหรือโอนกรรมสิทธิ์ไม่ได้
(3) ที่กัลปนา หมายถึงที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่มีผู้อุทิศให้เฉพาะแต่ผลประโยชน์ให้กับวัดหรือพระพุทธศาสนา ที่กัลปนาจึงไม่ถือว่าเป็นที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทรัพย์สินของวัดเป็นได้แต่เฉพาะให้วัดหรือพระพุทธศาสนาได้รับเพียงประโยชน์จากที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นแต่ถ้าหากภายหลังเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์ได้มีการอุทิศยกที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นให้กับวัดแล้ว ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นจะกลายเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ทันที
(4) ที่ศาสนสมบัติกลาง หมายถึงทรัพย์สินหรืออสังหาริมทรัพย์ของพระพุทธศาสนาซึ่งมิใช่ของวัดใดวัดหนึ่งเป็นการเฉพาะ เช่นวัดที่ถูกยุบไปแล้วที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นจะกลายเป็นศาสนสมบัติกลาง
จากประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่กล่าวข้างต้นแล้วมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจเกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ และที่ศาสนสมบัติกลาง ดังนี้
ฎีกาที่ 966/2474 ที่วัดร้างนั้น แม้ผู้ใดจะเข้าถืออำนาจปกครองมานานตั้ง 20 ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์อัยการมีอำนาจฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกเข้าปกครองที่วัดร้างได้
ฎีกาที่ 986/2474 ที่ดินซึ่งวัดได้ปกครองมาช้านาน โดยไม่ปรากฏว่าได้มาทางจับจองหรือมีบุคคลอุทิศให้ ดังนี้ สันนิษฐานว่า ที่นั้นเป็นที่ธรณีสงฆ์ ที่ธรณีสงฆ์ของวัดนั้น ท่านว่าผู้หนึ่งผู้ใดจะอ้างอำนาจปกครองโดยปรปักษ์หาได้ไม่ ผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกธรณีสงฆ์แทนวัดได้
ฎีกาที่ 1253/2481 วัดเป็นนิติบุคคล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 72 และนิติบุคคลย่อมมีสิทธิเสมือนบุคคลธรรมดาตามมาตรา 70 ทั้งวัดก็ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ มาตรา 6(พ.ร.บ. ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121) วัดจึงอาจได้มาซึ่งที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ตามป.พ.พ. มาตรา 1382
ฎีกาที่ 843/2487 ที่ธรณีสงฆ์ หมายถึงที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด แต่ไม่จากัดว่าจะต้องเป็นที่ที่มีผู้ยกให้ อาจได้มาโดยทางอื่น เช่น ทางซื้อก็ได้ ใครจะอ้างครอบครองปรปักษ์แก่ที่ของวัดไม่ได้
ฎีกาที่ 305/2497 ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ จะโอนกรรมสิทธิ์ได้แต่โดยพระราชบัญญัติ เอกชนจะอ้างว่า ได้กรรมสิทธิ์โดยทางครอบครองปรปักษ์ในที่ของวัดไม่ได้
ฎีกาที่ 662/2497 ที่ธรณีสงฆ์นั้น ใครจะครอบครองมาช้านานเท่าใด ก็แย่งกรรมสิทธิ์ไม่ได้
ฎีกาที่ 662/2497 ที่ธรณีสงฆ์นั้น แม้ผู้ใดจะครอบครองมาช้านานเพียงใด ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง ทั้งนี้เพราะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นแนวเดียวกัน ตามนัยที่ว่านี้มาแต่เดิม คือ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 มาตรา 7 ว่า “ที่วัดก็ดี ที่ธรณีสงฆ์ก็ดี เป็นสมบัติสำหรับพระศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นอัครศาสนูปถัมภกทรงปกครองรักษาโดยพระบรมราชานุภาพ ผู้ใดผู้หนึ่งจะโอนกรรมสิทธิ์ที่นั้นไปไม่ได้” แม้กฎหมายมาตรานี้จะได้ถูกแก้ไขไปโดย พ.ร.บ.ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. 2477 ให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ได้แต่โดยพระราชบัญญัติ หลักการในเรื่องสิทธิของบุคคลเกี่ยวกับที่วัด ก็คงเป็นไปเช่นเดิม กล่าวคือ บุคคลจะอ้างเอาที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์เป็นกรรมสิทธิ์ของตน โดยอาศัยอำนาจครอบครองปรปักษ์หรือโดยอายุความไม่ได้
ฎีกาที่ 851/2499 ซื้อที่วัดที่ธรณีสงฆ์โดยสุจริต จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลผู้ซื้อไม่ได้กรรมสิทธิ์
ฎีกาที่ 721/2504 ที่ธรณีสงฆ์นั้น ผู้ใดจะยกอายุความครอบครองปรปักษ์ขึ้นใช้ยันกับวัดไม่ได้
ฎีกาที่ 953/2508 ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 (กฎหมายที่ใช้อยู่ขณะเกิดกรณีพิพาทและในขณะฟ้อง) มาตรา 41 เป็นบทบัญญัติเรื่องเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ หรือความเป็นเจ้าของที่ได้กำหนดบังคับไว้วิธีเดียว คือโอนโดยพระราชบัญญัติเท่านั้น นอกจากนี้แล้วใครจะเอาที่ดินวัดไปเป็นของตนไม่ได้ ไม่ว่าจะโอนไปโดยนิติกรรม หรือโดยการแย่งการครอบครอง
ฎีกาที่ 1758,1759/2516 ที่ดินของวัดนั้น กรรมสิทธิ์จะโอนไปได้ก็แต่โดยออกพระราชบัญญัติเท่านั้น ที่พิพาทอยู่ในเขตพระพุทธบาท ซึ่งพระเจ้าทรงธรรมได้ทรงอุทิศไว้แต่โบราณกาลโดยมีวัดพระพุทธบาทเป็นผู้ดูแลรักษา แม้จำเลยจะได้รับโฉนดสำหรับที่ดินพิพาทมา ได้ครอบครองที่พิพาทอย่างเป็นเจ้าของเป็นเวลานานเท่าใด และแม้ทางวัดจะได้ปล่อยปละละเลยไว้เป็นเวลานานกว่าจะได้ใช้สิทธิติดตามว่ากล่าวเอาจากจำเลย กรรมสิทธิ์ในที่ดินของวัด ก็หาระงับสิ้นสุดไปไม่
ฎีกาที่ 2184-2485/2525 เจ้าอาวาสมีอำนาจฟ้องคดีแทนวัด หรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นฟ้องคดีแทนได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่พิพาทเป็นของวัด แม้บางแปลงจะได้มีการออกโฉนดเป็นชื่อของจำเลย จำเลยก็หาได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นไม่ เพราะที่วัดจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราช–บัญญัติและบุคคลใดจะยกอายุความขึ้นต่อสู้วัดเรื่องทรัพย์สิน อันเป็นของวัดไม่ได้
ฎีกาที่ 1932/2526 วัดโจทก์ตั้งเป็นสำนักสงฆ์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2506 ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 31 บัญญัติว่า วัดมีสองอย่าง คือ วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาและสำนักสงฆ์ สำนักสงฆ์ที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายแล้ว แม้จะยังมิได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ก็เป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงมีสิทธิครอบครองที่ดิน ที่มีผู้ยกให้เป็นของวัดได้
ฎีกาที่ 1206/2530 โจทก์เป็นวัดที่ตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้บางครั้งจะไม่มีพระภิกษุจำพรรษาอยู่ในวัด โดยมีลักษณะเป็นวัดร้าง แต่เมื่อไม่มีการยุบเลิกวัด จึงต้องถือว่า ยังคงมีฐานะเป็นวัดอยู่
ฎีกาที่ 6371/2531 การออกโฉนดทับที่ธรณีสงฆ์ของวัด โจทก์เป็นการออกโฉนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะมีการโอนทางทะเบียนต่อกันมาจนถึงจำเลยผู้มีชื่อรายสุดท้าย จำเลยผู้รับโอนหาได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่่ตนรับโอนไม่ และเมื่อโฉนดที่ดินออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วโจทก์จะขอให้ลงชื่อโจทก์แทนชื่อจำเลยในโฉนดดังกล่าวหาได้ไม่และแม้โจทก์จะมิได้ขอให้เพิกถอนโฉนดดังกล่าว ศาลฎีกาก็มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดดังกล่าวออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเสียได้
ฎีกาที่ 3760/2545 วัดยอมให้ทางราชการใช้ที่ดินพิพาทเป็นโรงเรียนหาใช่เป็นการยกที่พิพาทให้จำเลยไม่ การที่จำเลยนาที่ดินพิพาทไปออกเป็น น.ส. 3 ก. เป็นชื่อจำเลย แล้วขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุจึงเป็นการไม่ชอบ ที่ดินพิพาทยังคงสภาพเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์อยู่เช่นเดิม
ฎีกาที่ 2023-2026/2552 การออกโฉนดในบริเวณรอบ ๆ องค์พระพุทธบาทไม่ชอบเป็นการออกโฉนดทับที่ธรณีสงฆ์ พระบรมราชโองการที่พระเจ้าทรงธรรมพระราชทานที่ดินให้แก่วัดมีศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่าพระราชกฤษฎีกา จึงไม่สามารถลบล้างพระบรมราชโองการได้
ฎีกาที่ 485/2553 แม้ในหนังสือพินัยกรรมที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินถวายวัด จะไม่มีพยาน 2 คนลงลายมือชื่อรับรอง จึงไม่เป็นพินัยกรรมตามกฎหมาย แต่เอกสารดังกล่าวถือได้ว่าเป็นหนังสือยืนยันการยกที่ดินถวายวัด เมื่อวัดเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้ว ที่พิพาทจึงเป็นที่ธรณีสงฆ์
ฎีกาที่ 238/2461 ที่วัด แม้ผู้ใดจะได้ครอบครองมาโดยเป็นปรปักษ์ จนรับโฉนดแล้วนานเท่าใดก็ดี ที่นั้นก็หาเป็นกรรมสิทธิ์แก่ตนได้ไม่
ฎีกาที่ 349/2462 การอุทิศมรดกถวายวัด ด้วยปากเปล่านั้น ถ้าทรัพย์มรดกอันอุทิศตกถึงวัดแล้ว นับว่าเป็นอันสำเร็จ ผู้ใดจะเรียกร้องเอามาแบ่งปันไม่ได้ อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 459/128
กล่าวโดยสรุปคืออสังหาริมทรัพย์ที่เป็น ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ ที่ศาสนสมบัติกลาง นั้นตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ยกตัวอย่างมานั้นกำหนดไว้ชัดเจนคือการห้ามไม่ให้ทำการซื้อขาย หรือขายทอดตลาดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์หากอสังหาริมทรัพย์ที่ขายเป็นที่ดินวัด หรือที่ธรณีสงฆ์ หรือที่เป็นศาสนสมบัติกลาง หรือการที่มีผู้ครอบครองปรปักษ์ก็ไม่อาจได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมายแต่วัดเป็นนิติบุคคลหากได้ครอบครองปรปักษ์แล้วก็อาจได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382
อย่างไรก็ตามการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ธรณีสงฆ์นั้นกระทำได้แต่ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติยกเว้นการโอนที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ ที่ศาสนสมบัติกลางให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ หากมหาเถรสมาคมยินยอมและได้รับค่าผาติกรรมจากหน่วยงานของรัฐนั้นๆแล้ว ให้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกาได้ตามมาตรา 34 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505
หมายเหตุ
ผาติกรรม เป็นภาษาบาลีเขียน
ผาติกมฺม หมายถึงการแลกเปลี่ยนของที่แลกเปลี่ยนต้องมีราคาเท่ากันหรือมากกว่าของสงฆ์
ที่กัลปนา เป็นภาษาสันสกฤต หมายถึงที่ดินซึ่งมีผู้อุทิศแต่ผลประโยชน์ให้วัดหรือพระพุทธศาสนา
โดยกรรมสิทธิ์ในที่ดินยังคงเป็นของผู้อุทิศ
ข้อมูลโดย ดร.สุนทรา พลไตร
ข้อมูลที่เป็นประโยชน์
0 Comments